รู้จักกีฬาบริดจ์ไหม น้อยคนจะรู้
รู้จักกีฬาบริดจ์ไหม น้อยคนจะรู้ ว่าแต่มันคืออะไร มาหาคำตอบได้ที่นี่
กีฬาบริดจ์ (Bridge) หรือเกมไพ่ชนิดหนึ่ง เป็นกีฬาไม่ได้มุ่งเน้นที่พละกำลัง แต่วัดผลแพ้ชนะด้านสติปัญญา การวิเคราะห์ โดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น และหลักตรรกศาสตร์ มีไพ่เป็นอุปกรณ์การเล่น โดยจะต้องเล่นเป็นคู่ ในหนึ่งโต๊ะของการเล่นบริดจ์จะมีผู้เล่น 4 คน ผู้เล่นที่นั่งฝั่งตรงข้ามจะถือว่าอยู่ฝ่ายเดียวกัน
โดยจะเรียกว่า “คู่ขา” (Partner) และผู้เล่นที่นั่งด้านข้างจะเรียกว่า “ปรปักษ์” (Opponent) โดยบนโต๊ะแข่งขันจะมีฉากกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เล่นทีมเดียวกัน ส่งสัญญาณช่วยเหลือกัน ทำให้ทั้งคู่ต้องใช้ไหวพริบในการวางแผนเพื่อทำแต้มเอาชนะการประมูลจากฝ่ายตรงข้าม
กว่า 100 ปีแล้ว ที่กีฬาบริดจ์ถูกเผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ โดยเริ่มต้นจากประเทศใดไม่มีหลักฐานระบุไว้แน่ชัด แต่คาดว่าเริ่มเล่นกันครั้งแรกในแถบยุโรป เมื่อประมาณ ค.ศ. 1860 ซึ่งนิยมเล่นในประเทศอังกฤษ ต่อมา กีฬาบริดจ์
ได้พัฒนาการเล่นมาเรื่อยๆ โดยในปี ค.ศ. 1903 เริ่มเปลี่ยนวิธีการเล่น โดยมีการประมูลชุด Trump แทนการกำหนดชุด Trump เองของผู้แจกไพ่ เรียกว่า Auction Bridge และพัฒนาเป็น Contract Bridge ที่เป็นรูปแบบการเล่นในปัจจุบัน
กีฬาบริดจ์เข้ามาแพร่หลายในประเทศไทยครั้งแรก ในช่วงศตวรรษที่ 20 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในขณะนั้น ซึ่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงที่กีฬาบริดจ์แพร่หลาย และเป็นกีฬายอดนิยม และได้ทรงนำมาเล่นในวัง ต่อมาบริดจ์ได้แพร่หลายมากขึ้นในหมู่นิสิต นักศึกษา และประชาชน
ปัจจุบัน กีฬาบริดจ์ถูกบรรจุในการแข่งขันระดับชาติ เช่น กีฬาแห่งชาติ กีฬามหาวิทยาลัย กีฬาซีเกมส์ รวมไปถึงกีฬาเอเชียนเกมส์ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีนี้ด้วย นอกจากนี้ โอลิมปิกยังได้บรรจุกีฬาบริดจ์เป็นกีฬาทดลองอีกด้วย
หัวใจหลักสำคัญของการเล่นบริดจ์ คือการใช้ไหวพริบในการประมูลเพื่อชิงทำแต้ม และแย่งทำสัญญา โดยจะเป็นการทำสัญญากับผู้เล่นทั้งวงว่าจะกินอย่างต่ำกี่กองหรือหมายถึง ผู้เล่นต้องคาดคะเนว่าจากไพ่ทั้งหมด 13 ใบ ที่อยู่ในมือตัวเองและเพื่อนร่วมทีม
แต่ละใบมีไพ่ที่มีแต้มสูงมากพอที่จะสามารถเอาชนะคู่แข่งได้กี่รอบ จากทั้งหมด 13 รอบ จากนั้นผู้ที่ชนะการประมูล จะต้องทำให้ได้ตามสัญญาที่ให้ไว้ จึงจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งการประมูลแต่ละครั้ง จะต้องประมูลให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีวัตถุประสงค์ประมูลเพื่อต้องการหน้าทรัมพ์ (Trump) หรือชุดไพ่พิเศษที่สามารถเอาชนะไพ่ชุดอื่นได้ แม้จะมีแต้มน้อยกว่า
โดยรูปแบบการเล่นบริดจ์ที่ไม่เหมือนการเล่นไพ่ทั่วไป คือระบบกลไกการเล่นแบบนำไพ่ และตามไพ่ (Lead and Follow) คือ เมื่อผู้เล่นแจกไพ่ทั้งสำรับ คือ 52 ใบ ซึ่งแต่ละคนจะได้คนละ 13 ใบ และเมื่อมีคนหนึ่งนำไพ่ (Lead) หรือลงไพ่ใบแรก ผู้เล่นทุกคนจะต้องตามไพ่ (Follow) ในดอกเดียวกับผู้นำจนครบรอบ ผู้ที่ชนะจะได้ 1 ตองกิน หรือ 1 Trick
ความสนุกของกีฬาชนิดนี้ คือ ผู้เล่น 3 คน จะสามารถเห็นไพ่ครึ่งกอง คือ 13 ใบ บนมือตัวเอง และอีก 13 ใบ ที่เป็นของผู้เล่นอีก 1 คน ที่ต้องเปิดไว้ตามกติกา หากผู้เล่นคนนั้นอยู่ในทีมที่มีแต้มรวมของไพ่สูงสุด แต่เมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมทีมแล้ว ตนเองมีแต้มรวมของไพ่น้อยกว่า
เมื่อรู้เขา รู้เรา การวางแผนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากต้องการชนะผู้เล่นจะต้องตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าอีกทีม แต่อยู่ในระดับที่ทำได้ โดยประเมินจากไพ่ของตนเอง และฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นตลอดระยะเวลาการแข่งขันกว่า 15 นาที ต่อสำรับ และ 180-1,080 นาทีต่อการแข่งขัน ทั้งสองทีมจะต้องใช้ความคิดร่วมกันวางแผน และตัดสินใจว่าจะขัดขวางอีกทีม หรือ พลิกเกมเพื่อให้การเดินไพ่ทีมตัวเองสำเร็จตามเป้าหมายอย่างไร
การจะเอาชนะกันในแต่ละเกม จึงจำเป็นที่จะต้องชิงไหวชิงพริบ รวมถึงต้องร่วมกันวางแผนเป็นทีม จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ คือ การที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมเล่นได้โดยไม่จำกัดอายุ เพราะทุกคะแนนล้วนวัดกันด้วยสติปัญญา โดยมีงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การเล่นบริดจ์จะสามารถช่วยป้องกันผู้สูงอายุจากโรคอัลไซเมอร์ และฝึกสมาธิได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน สมาคมกีฬาบริดจ์แห่งประเทศไทย เคยส่งนักกีฬาอายุกว่า 70 ปี เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์มาแล้ว กีฬาลับสมอง ที่ไม่จำกัดความแข็งแรงของร่างกาย หากแต่ท้าทายความสามารถด้านความคิด และการตัดสินใจ แม้จะไม่ได้เป็นชนิดกีฬาที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักเท่ากับกีฬายอดนิยมชนิดอื่นๆ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งในกีฬาความหวังของคนไทย ในการคว้าเหรียญทองกับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์
บทความ รู้จักกีฬาบริดจ์ไหม ก็จบไว้เพียงเท่านี้ก่อน รอบหน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้นรอติดตามกันได้เลย
บทความเพิ่มเติม : กีฬาแบดมินตัน สัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่ไม่คิดว่าเคยอยู่บนโลกนี้